ขาดทุนเลี้ยวซ้าย ได้กำไรเลี้ยวขวา เรื่องที่นักลงทุนต้องรู้

ทำไมการลงทุนจึงขาดทุนได้

“ถ้าคิดจะเป็นนักลงทุน ต้องพร้อมที่จะกำไรและขาดทุน” เพราะโลกของเราไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยหรูอย่างคำลวงผิด ๆ ที่ชวนฝันให้เห็นภาพว่าถ้าลงทุนแล้วจะรวยเป็นเศรษฐี หรือ คำกล่าว “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ซึ่งก็มีความจริงอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด ดังนั้นการลงทุนจึงเหมือนทางเดินที่ไปพบกับทางเลือกสองทางคือ การขาดทุน และ การได้กำไร

ทำไมการลงทุนจึงขาดทุนได้?

มีสาเหตุมากมายทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ธุรกิจ SMEs เกิดใหม่เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ที่เป็นผู้รอดเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี นั่นหมายความว่าอีกร้อยละ 50 ก็คือขาดทุนหรือจำเป็นต้องปิดตัวลงไป ด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคล ก็มีผลทำให้กำไรหรือขาดทุนได้ แม้เป็นนักลงทุนรายย่อยก็เช่นกัน หุ้นตัวที่ถืออยู่อาจจะทำกำไรได้ในวันนี้ แต่อาจจะขาดทุนมหาศาลในวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้ รวมถึงการถือครองโลหะที่มูลค่าอย่างทองคำ หากเข้าซื้อผิดช่วงก็จะเกิดการติดดอยทองคำ ลงมาไม่ได้ไม่กล้าขายออกเพราะจะขาดทุน หลายรายต้องขาดทุนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะพื้นลดระดับลงไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งดูสูงขึ้นจนไม่กล้ากระโดดลงมา

การปิดประตูขาดทุนทำได้หรือไม่?

สามารถทำได้ถ้ามีความรู้เท่าทันเหตุการณ์ และมีความจดจ่ออยู่กับธุรกิจที่ลงทุน อย่างเช่น นักลงทุนในหุ้น ที่บริหารพอร์ตด้วยตนเอง ได้รับคำแนะนำว่าให้ถือหุ้นเพียง 2-3 ตัวเท่านั้น หากมากกว่านั้น อาจจะติดตามข่าวสารไม่ทัน ซึ่งทุกวันนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก เช่น สหรัฐฯ สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีน จากข่าวนี้ก็อาจจะทำให้หุ้นตัวที่ถืออยู่เกิดผลกระทบได้โดยที่คาดไม่ถึงมาก่อนก็เป็นได้ ความรู้ในงานที่ทำจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อีกทั้งต้องก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีและแนวโน้ม ซึ่งมีกรณีศึกษามากมายถึงธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้กับยุคของเทคโนโลยีทำให้ต้องปิดตัวลงไป ที่เห็นได้ชัด เช่น สื่อสิ่งพิมพ์สำนักต่าง ๆ ที่ทยอยปิดตัวลง หรือวงการเพลงที่ซบเซาลง จากการมาของยุคอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things) การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI กำลังมีบทบาทสำคัญที่อาจจะทำให้งานบางงานหรือบางธุรกิจต้องรีบปรับตัว

นักลงทุน ในหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ จะถือหุ้นบนหอคอยงาช้าง รอรับเงินปันผลเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเข้ามาขวนขวายความรู้ของธุรกิจไปด้วย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ กับสังคมออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลทุกด้านเข้าด้วยกันแล้วประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่ถือครองหุ้นอยู่ว่าจะมีแนวโน้มอย่างไรในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า หากทำได้ก็จะได้ก้าวเข้าไปอยู่ในเส้นทางของกำไรมากกว่าการขาดทุน

ขาดทุนเลี้ยวซ้าย ได้กำไรเลี้ยวขวา เรื่องที่นักลงทุนต้องรู้